ปวดหัวจี๊ด ๆ… เป็นไมเกรนหรือเปล่า
ปวดหัวจี๊ด ๆ… เป็นไมเกรนหรือเปล่า (Lisa)
เคยมั้ยที่มีอาการปวดหัวข้างเดียว ปวดขมับจนลามมาถึงเบ้าตา ปวดได้ปวดดี ปวดเป็นวัน ๆ อย่างนี้อาจเข้าข่ายเป็นไมเกรนเข้าให้แล้วล่ะ
นักร้องชื่อก้องโลกอย่าง เอลวิส เพรสลีย์ หรือดาราค้างฟ้าอย่าง เอลิซาเบธ เทย์เลย์ รวมทั้งยอดดาราตลก วูปี้ โกลด์เบิร์ก และน้องสาวสุดเลิฟของ ไมเคิล แจ็กสัน- เจเน็ต แจ็กสัน ต่างป่วยเป็นโรคไมเกรนชนิดที่ว่าแทบจะทำงานทำการไม่ได้ ยิ่งเจเน็ตด้วยด้วยแล้วเธอเป็นชนิดรุนแรงมากเลยทีเดียว และยังมีดาราสาวจากเรื่อง “Desperate Housewives” มาร์เซีย ครอส ที่มีอาการไมเกรนมาตั้งแต่อายุ 14 ซึ่งทำให้เธอพยายามหาข้อมูลเรื่องนี้ด้วยตัวเอง จนรู้วิธีที่จะอยู่กับโรคนี้ได้อย่างมีความสุข นั่นก็คือหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดไมเกรนนั่นเอง
นอกจากจะเป็นโรคฮิตของคนดังแล้ว เรา ๆ ท่าน ๆ โดยเฉพาะคนเมืองใหญ่นั้น ต่างสุ่มเสี่ยงกับการเป็นโรคนี้เช่นเดียวกันนะคะ
อะไรเล่า คือโรคไมเกรน
โรคนี้เกิดจากการบีบตัวและคลายตัวของหลอดเลือดแดงในสมองมากกว่าปกติ ทำให้เกิดอาการปวดหัวอย่างรุนแรง บางรายมีอาการคลื่นไส้อาเจียนควบคู่ไปด้วย บางรายมีอาการตาพร่ามัว เห็นแสงระยิบระยับร่วมด้วย
เอ…ไมเกรนปวดแบบไหนกันนะ
ก่อนปวดหัว บางรายอาจมีอาการนำมาก่อน เช่น เห็นแสงเป็นเส้น ๆ ระยิบระยับ หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวนำมาก่อน
ปวดหัวข้างเดียว อาจจะซ้ายหรือขวาก็ได้ แต่บางรายก็อาจปวดพร้อมกันทั้งสองข้างและปวดรุนแรงจนทำงานไม่ได้
ปวดตุ๊บ ๆ ยาวนานถึง 20 นาที บางคนทั้งปวดตุ๊บ ๆ ในสมองและปวดแบบดื้อ ๆ สลับกันไปในกรณีที่รุนแรงอาจลามไปเป็นวันหรือสัปดาห์
ปวดหัวอย่างรุนแรงจนอาเจียน บางรายอาจจะอาเจียนก่อนปวดหัวหรือหลังปวดหัวก็ได้ บางรายอาเจียนถึงขนาดทานอะไรไม่ได้เลย
ปัจจัยอะไรกระตุ้นให้เป็นไมเกรนมากขึ้น
ความเครียด
อดนอน
ทำงานมากเกินไปจนขาดการพักผ่อน
ทานอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต เนยแข็ง กล้วยหอม น้ำตาลเทียม ผงชูรส น้ำแอบปเปิ้ล ชา กาแฟ ไวน์แดง ถั่วลิสง กะหล่ำปลีดอง ไส้กรอก
ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ขณะมีประจำเดือน หรือทานยาคุมกำเนิด
เสียงดัง หรือที่ที่เย็นจัด ร้อนจัด รวมทั้งที่ที่มีแสงจ้าเกินไป
ป้องกันได้มั้ยเนี่ย
ถ้านาน ๆ ครั้งรู้สึกปวดที อย่างปีละ 2-3 หน ก็ไม่จำเป็นต้องกินยา แต่ถ้าปวดถี่ ๆ อย่างปวดทุกวันหรือเกือบทุกสัปดาห์ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยข้างต้น และหมออาจให้ยาป้องกัน เช่น ยาป้องกันไม่ให้หลอดเลือดในสมองขยายตัว ยาบรรเทาอาการซึมเศร้า ฯลฯ ซึ่งยาเหล่านี้เป็นยาอันตรายต้องอยู่ในความดูแลของหมอเท่านั้น
แม้จะเป็นโรคที่ไม่ อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้รำคาญและบั่นทอนสุขภาพจิตมิใช่เล่น ฉะนั้นทางที่ดีเราควรป้องกันไม่ให้โรคนี้เกิดขึ้น ก่อนจะสายเกินแก้ดีกว่านะคะ
คุณก็มีโอกาสเป็นไมเกรนถ้า…
อ้วนเกินไป
สูบบุหรี่เป็นประจำ หรืออยู่ในสถานที่ที่ไม่ปลอดบุหรี่
นอนไม่พอ อย่างต่ำต้องวันละ 7-8 ชั่วโมง
ไม่มีเวลาออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที
ไม่เคยทานอาหารตรงตามเวลา
ไม่เคยตรวจความดัน ระดับคอเลสเตอรอล และมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีความดันและระดับคอเลสเตอรอลสูง
ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์บ่อย ๆ และดื่มชาหรือกาแฟเป็นประจำ
ดื่มน้ำน้อย เพราะคนดื่มน้ำมากจะป้องกันอาการปวดหัวได้
อาหารช่วยบรรเทาอาการไมเกรน
แมกนีเซียม เช่น ถั่วต่าง ๆ ผักใบเขียว ธัญพืช และอะโวคาโด
แคลเซียม เช่น นม งาดำ ปลาเล็กปลาน้อย
ดื่มน้ำสมุนไพร เช่น เก๊กฮวย ซึ่งมีงานวิจัยระบุว่าการดื่มสารสกัดจากใบเก๊กฮวยแห้ง 125 มิลลิกรัม/วัน ช่วยป้องกันไมเกรนได้ แต่ถ้าแพ้ละอองเกสรควรหลีกเลี่ยง
อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ตับ ผักใบเขียว เพราะอาการปวดหัวเป็นอาการอย่างหนึ่งของการขาดธาตุเหล็ก
วิตามินบีและกรดโฟลิก ซึ่งมีมากในผักสีเขียว
น้ำมันปลา ซึ่งมีกรดโอเมก้า -3 ช่วยลดความรุนแรงของอาการได้
Co Enzyme Q10 มีงานวิจัยจาก Cleveland Headache Center ระบุว่าถ้าทาน Co Enzyme Q10 เสริมวันละ 150 มิลลิกรัม จะช่วยลดความถี่ของไมเกรนได้
ข้อแนะนำจาก นพ.สุรัตน์ บุญญะการกุล แผนกอายุรกรรมประสาท ศูนย์สมองและไขสันหลัง ร.พ.พญาไท 1
“ไมเกรนเป็นโรคที่วินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติละเอียด และตรวจร่างกายทางระบบประสาท โดยไม่จำเป็นต้องมีการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ หรือตรวจด้วยคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด สำหรับผู้ป่วยที่ปวดหัวจากไมเกรน การทานยาพาราเซตตามอลได้ผลในรายที่ปวดหัวไม่มาก ที่ได้ผลดีคือยากลุ่มป้องกันหลอดเลือดหดตัว สำหรับผู้ป่วยไมเกรนที่ปวดหัวบ่อยเกือบทุกสัปดาห์ แพทย์จะสั่งยาป้องกันสำหรับรับประทานทุกวัน”
หมายเหตุ : ข้อมูลที่ปรากฎเป็นข้อมูลที่ได้จากการ forword จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ บางส่วนอาจจะยังไม่มีผลการวิจัยทางวิชาการยืนยัน บางส่วนเกิดจากการเขียนโดยความเห็นของผู้เขียนต้นฉบับเอง ซึ่งทางบันทึกของครูบ้านนอก ขอสงวนสิทธิ์ในความรับผิดชอบของข้อมูลเป็นของผู้เขียนบทความ และโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านทุกครั้งครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ