29 มีนาคม 2554

นั่งหน้าคอมพ์นานๆ ปวดต้นคอ-สายตาล้า คุณอาจเป็นโรค“ออฟฟิศซินโดรม”

นั่งหน้าคอมพ์นานๆ ปวดต้นคอ-สายตาล้า คุณอาจเป็นโรค“ออฟฟิศซินโดรม”
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

By Lady Manager

หลายคนคงคุ้นหูกันบ้างแล้วกับ ออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome) หรือโรคที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ที่สาวออฟฟิศหลายคนฟังแล้วเริ่มหวั่นใจว่า ตัวเองมีภาวะเสี่ยงแค่ไหน ..ก็แหม แค่ชื่อโรคที่มีคำว่า “ ออฟฟิศ” เข้าไปเกี่ยวซะแล้ว จะให้ไม่หวั่นใจได้ยังไง!?




ในเมื่อเจ้าโรคชื่อแปลก ทำให้สาวๆ หวั่นใจได้ขนาดนี้ เราจึงติดต่อไปยัง นายแพทย์จตุพร โชติกวณิชย์ แห่งภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปีดิคส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อให้ข้อมูลชัดๆ ว่า ออฟฟิศ ซินโดรมคือโรคที่มีลักษณะอาการอย่างไร สาวเวิร์คกิ้งวูเมน (working women) อย่างเราๆ มีความเสี่ยงสูงแค่ไหนที่จะเป็น ไปจนถึงจะมีวิธีการป้องกันไม่ให้โรคนี้เข้ามาวุ่นวายกับชีวิตเรา

“ออฟฟิศ ซินโดรม คือกลุ่มอาการของโรค ที่เกิดจากการทำงานหนัก ทั้งอาการปวดหลัง, ปวดไหล่, ปวดมือ, ล้าสายตา, ปวดหัว ฯลฯ กล่าวคือ ภาวะการเจ็บป่วยที่เกิดจากการทำงานหนัก หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Over Use หมายถึง ทำงานมาก..ไม่สมดุลในชีวิต จะถูกเรียกว่า กลุ่มอาการของออฟฟิศ ซินโดรม ทั้งหมด”

อาจารย์หมอจตุพรอธิบายยาวว่า กลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม พบมากในคนอายุ 25-40 ขึ้นไป โดยเป็นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และพบว่าส่วนใหญ่เกิดจากการนั่งใช้คอมพิวเตอร์ทำงานนานๆ แล้วไม่ได้ขยับตัว หรือยืดเส้น ยืดสาย เพื่อบริหารร่างกาย สำหรับอาการออฟฟิศ ซินโดรม ที่พบได้บ่อยในผู้หญิงวัยทำงานบ้านเรา คือ กลุ่มอาการต่อไปนี้

ปวดหัวไหล่-ปวดหลัง เกิดจากการนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ โดยไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถ ทำให้รู้สึกปวดเมื่อยบริเวณสะบักหัวไหล่ทั้ง 2 ข้าง เหมือนมีคนเอามือมากดแรงๆ ที่หัวไหล่ลามไปจนถึงปวดหลัง เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเกิดอาการล้าจากการใช้งานหนัก

วิธีป้องกัน ควรเลือกเก้าอี้ที่ปรับขึ้นลงได้ และควรมีพนักพิงที่สามารถรองรับศีรษะได้ เพื่อจะได้ไม่รู้สึกเกร็งเวลานั่งทำงาน และปรับเปลี่ยนอิริยาบถทุก 1-2 ชม. ไม่นั่งติดต่อในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ หรือทุก 2 – 3 ชั่วโมง ควรลุกขึ้นยืดเส้น เปลี่ยนอิริยาบถ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อบ้าง





ปวดตา-ปวดศีรษะ เกิดจากการที่ต้องจ้องที่จอคอมพิวเตอร์เป็นระยะเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อตาเกร็งจนเกิดอาการล้า ตาแห้ง น้ำตาไหลระคายเคืองตา ตามัว ปวดตา และอาจลุกลามไปถึงการปวดศีรษะ ส่วนในรายที่เป็นโรคไมเกรน (Migraine Headache) หรือโรคปวดศีรษะข้างเดียวอยู่แล้ว อาการปวดก็จะหนักขึ้น

วิธีป้องกัน ควรพักสายตาเป็นระยะ ทุก 20 นาที, หลับตาสักครู่ทุก 1 ชั่วโมง หรือลุกเดินไปทำกิจกรรมอื่นเพื่อพักสายตา รวมถึงควรวางจอภาพคอมพิวเตอร์ให้ต่ำกว่าระดับสายตา 15 องศาเพื่อช่วยลดอาการปวดตาและปวดคอ ส่วนความสว่างของหน้าจอคอมพิวเตอร์ควรปรับความสว่างให้พอเหมาะ ไม่สว่างจ้าจนเกินไป (ตามทฤษฎีบอกไว้ว่า แสงสว่างของจอคอมพิวเตอร์ มากกว่าความสว่างของสภาพแวดล้อมในห้องสามเท่า) และควรปรับสีของจอให้สบายตา โดยจากผลการวิจัยพบว่าตัวอักษรสีเข้มบนพื้นจอสีอ่อนจะทำให้อ่านได้อย่างสบาย ตา

ปวดข้อมือ เกิดจากภาวะผังผืด ทับเส้นประสาท จะมีอาการจะมีอาการปวดมือ และร้าวขึ้นไปที่แขน รวมทั้งมักมีอาการชาที่นิ้วมือ โดยเฉพาะในเวลานอนหรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า หากบางรายมีการการหนักมือจะเริ่มอ่อนแรง ไม่มีแรงกำมือ สาเหตุเกิดจากการใช้งาน และวางตำแหน่งของข้อมือ ในท่าเดียวกันนานๆ โดยเฉพาะเมื่อข้อมืออยู่ในตำแหน่งที่กระดกขึ้น หรือ ‘งอ’ ลงมากๆ เป็นเวลานาน เช่น การพิมพ์ คีย์บอร์ด (key board) คอมพิวเตอร์





วิธีป้องกัน ควรเลือกโต๊ะทำงานให้มีระดับพอดีกับข้อศอก เพื่อที่จะสามารถพิมพ์แป้นคีย์บอร์ดได้อย่างถนัด รวมถึงที่แป้นคีย์บอร์ด ควรมีที่รองรับข้อมือไม่ให้ข้อมือกระดกบ่อยๆ และควรจัดสภาพโต๊ะทำงานให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เพื่อความสะดวกในการหยิบจับสิ่งของต่างๆ โดยไม่เมื่อย

“สำหรับคนที่ป้องกันไม่ทัน และเกิดภาวะโรคนี้ขึ้นมาแล้ว วิธีการรักษารักษาระยะสั้นจะเป็นไปตามอาการคือ หากปวดเมื่อยก็ให้ยาบรรเทาอาการปวด เช่น ยาแก้ปวด ยาคลายเส้น ยาแก้อักเสบ แพทย์ทางด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู จะแนะนำให้ทำกายภาพบำบัด แต่การรักษาแบบนี้ก็เป็นเพียงการบรรเทาอาการเท่านั้น โรคนี้จะไม่หายขาดตราบใดที่เรายังใช้งานร่างกายอย่างหนัก”

อาจารย์หมอหน้าละอ่อนกล่าวว่า วิธีที่จะช่วยรักษาได้ระยะยาว

“คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อดูแลสุขภาพให้แข็งแรง จัดองค์ประกอบโต๊ะ- เก้าอี้ และนั่งในท่าที่เหมาะสม” ดังที่แนะนำไว้ข้างต้น พร้อมกันนี้อาจารย์หมอใจดี กำชับว่า

“สิ่งสำคัญของการป้องกันโรคออฟฟิศ ซินโดรม อีกอย่างคือ การเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง ให้เป็นคนไม่เครียด และมองโลกในแง่ดีเสมอ เพราะแม้จะยังไม่มีผลงานวิจัยรายงานที่แน่นอน แต่จากการทำงานรักษาผู้ป่วยโรคออฟฟิศซินโดรม มากว่า 20 ปี พบว่าคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่ค่อนข้างเครียด มองโลกในแง่ร้าย หรือมีปัญหาที่ทำงาน ปัญหาทางบ้าน แทบทั้งสิ้น ซึ่งความเครียดไม่ได้ส่งผลแค่กับโรคนี้เท่านั้น แต่ยังนำมาซึ่งโรคร้ายอีกหลายโรค”

เตือน! อิริยาบถที่เสี่ยงเกิดโรคในกลุ่มออฟฟิศ ซินโดรม

* นั่งไขว้ห้าง เป็นระยะเวลานานๆ
* นั่งกอดอกนานๆ เพราะจะทำให้ปวดที่หัวไหล่ได้
* การนั่งหลังค่อม
* นั่งเก้าอี้ไม่เต็มก้น หรือนั่งครึ่งก้น เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ไม่สมดุล
* การยืนโดยทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว
* การใส่รองเท้าส้นสูงมากๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
* การสะพายกระเป๋าหนัก หรือหิ้วของหนักบ่อยๆ
* นอนตัวเอียง นั่นคือ นอนขดนานๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ

ให้คะแนนข้อเขียนนี้...คุณจะให้กี่ดาวดีจ๊ะ