เอาหละ มาพูดเรื่องงานที่นอกเหนือการสอนของครูกันต่อ
ในการสอน ครูจะต้องมีการเช็คชื่อนักเรียน และบันทึกลงใน ปพ.5 ต้องคอยตรวจสอบว่า นักเรียนคนไหนไม่มา มาสาย แล้วต้องประสานครูประจำชั้นเพื่อติดตาม (ในกรณีที่สอนรายวิชา) แต่โรงเรียนเล้กๆส่วนใหญ่ ครูประจำชั้นจะเป็นคนสอนเองในตัว
ใน ปพ.5 นอกจากมีการลงเวลามาเรียนแล้ว ยังมีส่วนที่ครูต้องบันทึกครู คะแนนที่ทำการทดสอบ ทำกิจกรรม โดยต้องสอดคล้องกับตัวชี้วัด (ที่ได้มาจากการวิเคราะห์หลักสูตรและเขียนแผน) ต้องมีการแบ่งว่าจะเป็นคะแนน 80 : 20 หรือ 70 : 30 หรือ 60 : 40 แล้วแต่ธรรมชาติของวิชา ครูยังต้องลงคะแนนการอ่านคิดวิเคราะห์ และเขียนสื่อความ (ถ้าโรงเรียนใหญ่ๆ จะมีงบประมาณในการทำข้อสอบอย่างดี ส่วนโรงเรียนเล็กๆ ถ้าไม่ยืมเค้ามาถ่าย ครูก็ต้องออกแบบเองให้เหมาะสม) และยังมีคะแนนคุณลักษณะอันพึงประสงค์อีก
เมื่อครูกรอกคะแนนเรียบร้อยแล้ว ต้องส่งคะแนนให้ครูประจำชั้นกรอก ปพ.6 และ ปพ.8 เพื่อมอบให้ผู้ปกครองเอาไปชื่นชมตอนปลายปี (ถ้าเป็นมัธยมก็ปลายเทอม) แล้วครูต้องส่งให้ฝ่ายวัดผลกรอกลงใน ข้อมูลโปรแกรม student'51
นอกจากนี้ ครูยังต้องทำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการออกเยี่ยมบ้าน การประชุมผู้ปกครอง การคัดกรอกเด็กกลุ่มเสี่ยง การทำกิจกรรมห้องเรียนสีขาว การประสานงานกับครู D.E.A.R. ที่เป็นตำรวจ เพื่อป้องปรามพฤติกรรมเด็ก
บางที ตามโรงเรียนบ้านนอก มีเด็กหนีไปเล่นน้ำ เราอาจได้เห็นภาพครูขี่มอเตอร์ไซต์ถือไม้เรียวไปไล่เด็กกลับมาเรียน ผู้ปกครองของเด็กคนนั้นอาจดีใจที่ครูเอาใจใส่ แต่ผู้ปกครองบางคนบอกว่า เพราะเด็ก 1 คน ทำให้เด้กอีก 10 คน ไม่ได้เรียน .... เฮ้อ ต่างมอง ต่างมุม
ที่เล่ามาเราเรียกมันว่า ธุรการชั้นเรียน
ในการจัดการเรียนรู้ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งคือการวัดและประเมินผล นั่นคือการสอบนั่นเอง
ครูวิทยาศาสตร์ หากสอนวิทยาศาสตร์อย่างเดียว เค้าก็จะสามารถออกแบบทดสอบได้อย่างมีคุณภาพ (มั้ง) เพราะในการออกข้อสอบ ก็ต้องย้อนกลับไปดูหลักสูตรฯ แล้วทำพิมพ์เขียวข้อสอบ (Test Buleprint) ว่าข้อสอบนี้วัดด้านใด พุทธิพิสัย ทักษะพิสัย จิตพิสัย
หากเป็นพุทธพิสัยก็จะแยกเป็น
ความรู้ความจำ
ความเข้าใจ
การนำไปใช้
การวิเคราะห์
การสังเคราะห์
เมื่อวิเคราะห์แล้ว ต้องบอกว่า ทำข้อสอบแต่ละระดับกี่ข้อ แบบทดสอบควรเป็นแบบใด ปรนัย หรืออัตนัย (ถ้าเป็นปรนัย ก็ต้องบอกอีกว่า แบบใดใน 4 แบบ)
เมื่อได้แบบทดสอบแล้ว หากมีเวลา มีจำนวนนักเรียนเพียงพอ ต้องเอาแบบทดสอบนั้นไปหาค่า P ค่า R (ส่วนใหญ่อาจไม่ได้ทำครับ เพราะต้องกลุ่มตัวอย่างที่นอกเหนือจากที่สอบจริง) แล้วมาคัดในเรื่องของค่าคะแนนความยาก - ง่าย อีก
และเมื่อจัดการเรียนรู้เสร็จแล้ว ต้องเขียนบันทึกท้ายแผนว่า ใช้แล้วเป็นอย่างไร เด็กผ่านจุดประสงค์กี่คน เด็กผ่านตัวชี้วัดกี่คน ไม่ผ่านกี่คน เพราะอะไร ควรแก้ไขอย่างไร....
...แล้วเอาผลนั้น มาทำเป็นงานวิจัย สร้างสื่อ สร้างนวัตกรรมเข้ามาแก้ไข
แต่จะใช้เลยไม่ได้นะครับ ต้องผ่านการอนุญาตก่อน
เมื่อสอนเสร็จประจำปี ก็ต้องรายงานทางต้นสังกัดว่า เด็กแต่ละชั้น ได้เกรดอะไรบ้าง เป็นจำนวนกี่คน ติด 0 กี่คน ติด ร กี่คน มส. กี่คน แล้วคุณแก้ไขหรือยัง อย่างไร บ่อยแค่ไหน (เด็กติด 0 เพราะไม่ยอมส่งงาน สอนก็แล้ว ด่าก็แล้ว ไม่นวมก็แล้ว ไม้แข็งก็แล้ว แจ้งผู้ปกครองก็แล้ว สุดท้าย ก็กลายเป็นความผิดของครู... สงสัย ต้องเอาดอกไม้ธูปเทียน อัญเชิญนักเรียนไปส่งงาน ไปเข้าสอบเสียแล้วกระมัง)
เอาหละ นอกจากการสอนอันมีขั้นตอนต่างๆตามที่พูดแล้ว ครูยังต้องทำงานเหล่านี้ (เอาแค่คร่าวๆนะครับ เพราะถ้าบอกหมดเดี๋ยวยาว)
- งานวิชาการ
ตรวจสอบจำนวนแผนของครู, ตรวจแบบทดสอบ, ตรวจสอบการแก้ไขหลักสูตร, การรายงานรายชื่อนักเรียนเข้าสอบ onet, การรับนักเรียน, การย้ายนักเรียน, การทำหลักสูตรอาเซียน, การทำหลักสูตรป้องกันอุทกภัย, การทำข้อมูลนักเรียน SIMS , การกรอกข้อมูลผลการเรียนในโปรแกรม student'51 , การรายงานข้อมูลต่างๆตามที่หน่วยงานต้นสังกัดขอ , การประชุม, การอบรม, การสัมมนา ฯลฯ ครูวิชาการจะโดนเรียกอบรม ประขุม สัมมนาบ่อยมากๆ จำได้สมัยเงินเดือน 8 พันกว่า โดนอบรมทั้งปีรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 180 ชม. (ข้าราชการครู คิดชั่วโมงอบรมเป็น 6 ชม./วัน ครับ) เดินทางก็ต้องออกเงินค่าเดินทางเอง ไม่มีเบี้ยเลี้ยง ถึงจะมีแต่ก็.... เหอะๆ นั่งรถเมล์จากพิษณุโลก ไปกำแพงเพชร เที่ยวละ 78 บ. ไปกลับก็ร้อยกว่า ได้เบี้ยเดินทาง 100 เดียว <<< เข้าเนื้อๆๆ 555+
- งานบริหารทั่วไป / ธุรการ
จัดทำเอกสารราชการ, จัดทำหนังสือเข้า - ออก, จัดทำคำสั่งในกิจกรรมต่าง, งานธุรการก็จะมีอบรม ประชุม สัมมนาบ้าง แต่ก็น้อยครั้ง แล้วก็ยังมีกิจกรรมต่างๆของนักเรียน เช่น แห่เทียน กีฬาสี งานระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นต้น
- งานการเงิน
งานนี้ มีขาอยู่ในคุก 1 ข้าง รับผิดชอบเรื่องการเบิกจ่ายเงิน ทั้งค่าอาหารกลางวัน, ค่านมเด็ก, ค่าอุปกรณ์อันแสนจะน้อยนิด (สำหรับโรงเรียนเล็ก) , ทำบันทึกประจำวันเงินคงเหลือ ก็จะมีอบรม ประชุม สัมมนาบ้าง แต่ก็น้อยครั้ง
- งานพัสดุ
เมื่อครู่การเงินเอาขาข้างซ้ายเข้าไปอยู่ในคุก งานพัสดุกลัวน้อยหน้า เลยเอาขาข้างขวาไปอยู่ในคุกบ้าง เหอะๆๆๆ ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องทะเบียครุภัณฑ์, วัสดุคงทน, วัสดุสิ้นเปลือง, การเบิกจ่ายต่างๆของครู อันนี้จะเยอะหน่อยถ้าเป็นโรงเรียนใหญ่ บางโรงเรียนมีครูที่ทำหน้าที่การเงิน 14 คน โห!!! เท่้ากับครูโรงเรียนผมทั้งโรงเรียนเลย....
ที่กล่าวมานี่เป็นส่วนหนึ่งนะครับ เพราะถ้าครูที่ทำงานเหล่านี้ทำไปเก็บงานไป เค้าก็อาจจะมีผลงาน แบบนี้
แหม อยากจะเอาบันทีกประจำวันสแกนลงเสียจริงๆ เหอะๆ
ผมเชื่อว่าต้องมีครูที่ทำงานหนัก ทำงานมาก แถมยังโดนเรียกอบรมมาก เหมือนกัน เผลอๆอาจจะมากกว่าในกรณีที่โรงเรียนมีครู 2 คน อย่างที่บอกไปในบทความที่แล้ว
นี่ยังไม่ได้กล่าวถึงพี่น้องวงการครูที่อยู่โรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ สพฐ. อีกนะครับ พวกท่านคงลำบากเหมือนกันกับพวกเรา
ที่เขียนมานี้ ไม่ใช่ว่า เรียกร้องให้ขึ้นเงินเดือนครูนะครับ เพียงแค่อยากจะบอกให้รู้ว่า บางท่านคิดว่า ครูมีปิดเทอม แต่ในช่วงที่เปิดเทอม ครูต้องทำอะไรบ้าง และครูบางคนอาจจะไม่มีปิดเทอม เพราะ ผอ.เรียกมาทำงาน หรือถูกเรียกประชุม อบรม สัมมนา
การเป็นครูนั่นเหนื่อยครับ แต่การได้บ่นโดยการเขียนเนี่ย มันทำให้เรามีแรงฮึดต่อ เพราะอย่างน้อยๆเผื่อผู้หลักผู้ใหญ่ รัฐมนตรีกระทรวงศึกษา หรือแม้แต่นายกฯ อาจจะเผลอแวะเวียนเข้ามาอ่านบ้าง (เนาะ)
บ่นกับด่ามันต่างกันนะครับ
บ่นแต่ทำงาน กับไม่เคยบ่น(เพราะไม่ได้ทำงาน) กันก็ต่างกันครับ อิอิ (ศน.บางท่านบอกว่า เข้าแชมป์มันขี้บ่น แหม มันก็ขอระบายออกมาบ้างเถอะ แต่ก็บนหลักของวิชาการ เหตุผลนะครับ อิอิ)
ใครทำอะไร ย่อมได้อย่างนั้น ถ้าครูไม่รักลูกคนอื่นเท่าลูกตัวเอง ตอนที่ครูมีลูก ผลกรรมมันก็ตกกับลูกของครูเอง ใช่ไหมครับ เชื่อว่าครูเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ย่อมมีจิตวิญญานของความเป็นครูอย่างเต็มเปี่ยม มีสำนึกของความเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างเต็มกำลัง
สาธุ ขออานุสงส์ที่ตั้งใจทำเพื่อการศึกษา จงส่งผลให้ได้สัมฤทธิ์ในสิ่งที่ฝันสูงสุดด้วยเถิด....
(ผิดพลาดประการใด ไม่ถูกใจท่านใด ก็กราบขออภัยล่วงหน้า ตามประสาครูนะจ๊ะ)
ให้กำลังใจครูบ้านนอกด้วยนะจ๊ะ ... ขอบคุณจ้า
...............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ