ท่านถามว่า "ถ้าขับรถมาจากนครสวรรค์ แล้วน้ำมันใกล้จะหมด คุณจะทำอย่างไร ระหว่างไปข้างหน้า กับย้อนกลับไป"
ผมตอบว่า "ถ้าเป็นผม ผมจะย้อนกลับไป" (มีผู้บริหารอีกท่านตอบเหมือนกับผม แต่ที่เหลือตอบว่าไปหาเติมข้างหน้า)
ท่านผู้บริหารระดับสูงท่านนั้นได้บอกว่า นี่คือ ข้อสอบ ผอ. และเอาไว้แยกแยะว่า ใครควรเป็น ผอ. ใครจะเป็นเสมียน
คนที่ตอบว่าไปข้างหน้าได้เป็น ผอ.
คนที่ตอบว่า ย้อนกลับไป ได้เป็นแค่เสมียน....
ผมว่า ผมเองไม่เท่าไร เพราะเราเป็นแค่ครูผู้น้อย แต่ท่าน ผอ. ที่ตอบเหมือนกับผมคงจะสะดุ้งเล็กน้อย ท่านคงกลัวคนอื่นๆที่นั่งข้างๆจะว่าให้ได้ว่า "สอบเป็น ผอ. ได้ไงวะ"
ผมอยากจะอธิบายเหตุผลว่า "ทำไม ผมถึงตอบว่าย้อนกลับไป" แต่ท่านผู้บริหารก็อธิบายยาว และเลยไปเรื่องอื่น เรื่องนี้เลยติดอยู่ในหัวใจผมมา จนกระทั้งวันนี้ได้คุยกับพี่สาวคนสวย ก็ตกผลึกความคิดเอามาเขียนในบันทึกของครูบ้านนอก (หากผิกพลาดประการใด รบกวนชี้แนะด้วยนะครับ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากได้คำชี้แนะจากรัฐมนตรีประจำกระทรวงเลยครับ <<< ฝันไปเถอะ ท่านไม่เข้ามาอ่านบันทึกของเอ็งหรอก ครูแชมป์ )
...นี่คือเหตุผลของผม
การที่น้ำมันใกล้หมด แล้วมี ผอ. ท่านหนึ่งบอกว่า "มันยังขับไปอีกประมาณร้อยกว่าโล" มันเป็นการแสดงความเห็นเชิงบริหารความเสี่ยง (อันนี้ คนที่เค้าผ่านหลักสูตรอบรมผู้บริหาร เค้าได้ศึกษามา) เค้าต้องการให้คนกล้าได้กล้าเสีย ประมาณว่า จะเป็นผู้บริการได้ ต้องกล้าเสี่ยงหน่อย
บางที ท่านอาจเข้าใจว่า ระหว่างทาง(จากนครสวรรค์มา ท่านคงประมาณถึงพิษณุโลก) ท่านคงเข้าใจจากประสบการณ์เดิมว่า มันมีปั้มน้ำมันมากมาย
...แต่คำถามไม่ได้บอกนี่นา ว่าท่ายเคยผ่าน หรือเคยอยู่แถวนี้
ถ้าท่านไปหลงทางอยู่ในตำบลหนึ่ง สองข้างมีทุ่งนา ท่านจะใช้วิธีกลับไปเดินน้ำมันเมื่อครู่ หรือดันทุรังไปเดิมเอาข้างหน้า
ผมเห็นด้วย กับการเป็นผู้บริหาร ต้องมีความเสี่ยง มีการกล้าได้กล้าเสีย
ในขณะเดียวกัน มุมมองของผมอาจจะมองเห็นว่า เสี่ยงอย่างไร เจ็บตัวน้อยที่สุด
ทหารจะเข้าตี ยังต้องมีการข่าว ต้องมีกำลังพลมากกว่า 3 เท่าของข้าศึก และต้องมีการสนับสนุนทางอากาศ หรือปืนใหญ่ยิงหนุน
การที่เสี่ยงขับรถ โดยไม่วกรถกลับไปเติมที่ปั๊มที่เห็นครั้งล่าสุด เหมือนการบุกโจมตีเข้าค่ายโดยไม่มีการประเมินตัวเอง สมมุติว่า ถ้าข้างหน้า มีม๊อบข้าว ม๊อบมันสำปะหลัง ม๊อบอ้อย แล้วตำรวจโบกรถให้อ้อมภูเขา... ท่านจะรู้ได้อย่างไร ว่ามันจะมีปั๊ม ไอ้ร้อยกว่าโลที่ท่านกะว่าขับถึงแพร่ มันอาจจะจอดดับสนิทแถวภูเขาที่บ้านแยง ก็เป็นได้
ผมเองก็ไม่รู้ทฤษฎีการบริหารอะไรหรอกครับ แต่ครูบาอาจารย์ของผมสอนว่า ให้คิดว่า การทำทุกอย่างต้องมี "แต่" "ถ้า" "แล้วถ้า" เมื่อเราคิดแล้ว เราต้องมีแผนสำรอง
เช่น สมมุติ เขตฯ มาตรวจโรงเรียน ครูแชมป์รายงาน ผอ.ว่า "ข้อมูลคะแนนเด็กอยู่ในคอมพ์หมดแล้วครับ" ถ้าเค้ามาตรวจ ก็เปิดให้ดูได้เลย
แล้วถ้าใช้สิ่งที่ครูบาอาจารย์ผมสอนมาหละ
แต่ถ้าไฟเกิดดับขึ้นมาหละ... จะเอาอะไรให้เค้าดู
ถ้าคอมพ์เกิดพังขึ้นมาหละ... จะเอาอะไรให้เค้าดู
แล้วถ้า เค้าจะเอาข้อมูลกลับไปที่เขตฯหละ... จะเอาอะไรให้เขา
...คิดได้ดังนั้น ก็ต้องพิมพ์ออกมาเป็นเอกสารสำรองสัก 2 ฉบับ
เสียดาย ที่ครูที่สอนผม เค้าไม่ได้เป็น ผอ. แต่เค้าได้เป็นรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยของผม
ดังนั้น ท่านคงจะใช้คำว่า "ข้อสอบ ผอ." แยกแยะเสมียนออกจากกลุ่ม คงไม่ได้ทั้งหมด
ประมาณว่า ซื้อล๊อตเตอรี่ กับสลากออมสิน อันแรกถูกแล้วรวยเลย แต่ก็เสี่ยงสูงที่จะถูกกิน แต่อันหลังโอกาสได้รางวัลน้อย แต่เงินได้คืนหมด แถมได้ดอกเบี้ย ผมเป็นคนคิดมาก เลยเลือกอย่างหลัง...
เอาอีกตัวอย่างหนึ่งของการวกรถกลับไปเติมน้ำมันปั๊มล่าสุด
ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา สมัยที่ท่านเรียนที่เมืองนอก ท่านได้เรียนวิชาทหาร (เหมือน นศท. หรือ รด. บ้านเรา ประมาณนั้นครับ) ท่านได้วางแผนสำรอง ให้คนสองคนทำเสียงเอะอะในค่ายพัก แล้วพากำลังทั้งหมดออกไปซุ่มอยู่ข้างนอก ปรากฎว่า อีกกองร้อยหนึ่ง ใช้วิธี "ขับไปเติมน้ำมันข้างหน้า" บุกตะลุยเข้าไป ผลการประเมินออกมาพบกว่า กองร้อยของท่าน ดร.อาจอง มีอัตราการศูนย์เสียเป็น 0 และฝ่ายตรงข้าม ศูนย์เสีย 100 % เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ได้รับยกย่อมประหนึ่งนายทหารจริงๆ แต่ก็ถูกจับตามองว่า "เฮ้ย คนไทยคนนี้เป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า" จึงถูกติดตามจากหน่วยสืบราชการลับ (แหม ดูถูกคนไทยนะไอ้หรั่ง)
...บางที ผมอาจจะเล่นเกมส์สงคราม วางแผนการรบบ่อยไปก็ได้
...บางที ผมอาจอ่านหนังสือแนวซุนวู สามก๊ก บ่อยไปก็ได้ (ไม่ร่วมกลยุทธ์การรบในเมือง และป่าล้อมเมืองนะครับ )
...บางที ผมอาจเล่นหมากรุก บ่อยไปก็ได้
ผมถึงต้องมีแผนสำรอง มีการคุ้มกัน และเลือกหนทางที่สูญเสียน้อยที่สุด
บางคน อาจชนะในสนามรบ...
...แต่ผม เลือกที่จะชนะสงคราม
ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการครับ ผมอาจคิดผิดก็ได้นะครับ ผมรบกวนขอความกรุราจากท่าน ชี้แนะในสิ่งที่ถูกต้องของการเป็นผู้บริหาร และคำตอบว่า "ควรวกรถกลับ หรือ เสี่ยงไปข้างหน้าดีครับ" ผมชื่อ พิริยะ ตระกูลสว่างนะครับท่าน
กราบขอบพระคุณทุกท่านครับ ที่เข้ามาอ่าน และแสดงความเห็นดั่งปัญญาชนนะครับ
...............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ