บรรดาผู้เชี่ยว ชาญด้านการคุมกำเนิดทั้งจากออสเตรเลีย เยอรมนี สวิสเซอร์แลนด์ และไทย จึงเผยวิธีการคุมกำเนิดแบบต่างๆ ไว้ในงานแถลงข่าว ฮอร์โมน..การคุมกำเนิด..หลากหลายทางเลือกที่เข้าใจ และตอบโจทย์ความต้องการของผู้หญิง ภายในงานประชุมวิชาการระดับภูมิภาค MSD ASIA PACIFIC CONTRACEPTIVE SUMMIT 2012
โดยวิธีการคุมกำเนิดทั่วๆ ไป มีทั้งการขวางกั้น, ห่วงคุมกำเนิด, การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน, และการทำหมัน
สำหรับวิธีขวางกั้น เป็นวิธีการทางกายภาพ ป้องกันเชื้ออสุจิของผู้ชายไม่ให้เข้าไปในมดลูกและไปทำปฏิกิริยาถึงรังไข่ ของผู้หญิง นั่นก็คือ 'ถุงยางอนามัย' ที่มีทั้งของผู้ชายและผู้หญิง แถมยังช่วยป้องกันการติดเชื้อเอดส์ และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 'ฟองน้ำ' เป็นอุปกรณ์รูปร่างคล้ายโดนัททำด้วยโฟมนุ่มเคลือบด้วยสารฆ่าอสุจิ ใช้สอดเข้าไปในช่องคลอดของผู้หญิง
และ 'แผ่นครอบปากมดลูก, หมวกครอบปากมดลูก, และสิ่งปกป้องปากมดลูก' อุปกรณ์ขนาดเล็กรูปทรงครึ่งวงกลม สอดใส่ภายในช่องคลอดและครอบปากมดลูก ต้องสอดใส่อุปกรณ์ชนิดนี้โดยแพทย์ ใช้กับสารฆ่าอสุจิเช่นกัน
ส่วนวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ด้วยห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine Device) หรือเรียกสั้นๆ ว่า ไอยูดี แบบไม่ใช้ฮอร์โมน จะฝังในมดลูกโดยแพทย์ อาจเรียกว่า 'IUD ทองแดง' ซึ่งจะปล่อยทองแดงปริมาณเล็กน้อยเข้าไปในมดลูก ทองแดงนี้ป้องกันอสุจิไม่ให้ไปถึงรังไข่และผสมกับไข่ และเพื่อหยุดยั้งไข่ไม่ให้ฝังตัวที่เยื่อบุของมดลูก
ขณะที่วิธีคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมน มีทั้งการใช้ฮอร์โมนเดียว และฮอร์โมนรวม ส่วนฮอร์โมนที่ใช้ในวิธีนี้ คือ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสติน (คล้ายกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน) ช่วยป้องกันการปฏิสนธิ ทั้งในรูปแบบของวงแหวนช่องคลอด, ยาฝัง, ยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฉีด, และแผ่นแปะให้ยาซึมผ่านผิวหนัง วิธีนี้ใช้ฮอร์โมนป้องกันไม่ให้รังไข่ปล่อยไข่ออกมา และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่เยื่อบุมดลูกและเมือกที่ปากมดลูก เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิผสมกับไข่
สุดท้าย วิธีทำหมัน เป็นขั้นตอนปฏิบัติของการผ่าตัดที่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ สำหรับผู้หญิง จะเกี่ยวข้องกับการปิดท่อรังไข่อย่างถาวร เพื่อไม่ให้อสุจิเข้าไปถึงไข่ได้ และเรียกว่าการผูกท่อ ส่วนผู้ชาย ท่อที่พาเชื้ออสุจิจากอัณฑะไปยังองคชาติจะถูกตัดและผูกในการผ่าตัด เรียกว่า การตัดหลอดนำอสุจิ
อย่างไรก็ตาม ผศ.นพ.มานพชัย ธรรมคันโธ หัวหน้าหน่วยโรคติดเชื้อทางนรีเวชวิทยาและโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สตรี ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า การคุมกำเนิดแต่ละวิธีข้างต้น มีประสิทธิภาพต่างกัน คุมกำเนิดได้ระยะสั้น-ระยะยาว โดยก่อนตัดสินใจเลือกใช้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยเฉพาะการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด ส่วนจะมีปัจจัยใดบ้างที่แพทย์ใช้นำมาเป็นหลักเลือกวิธีคุมกำเนิด ชมได้ทางคลิปประกอบ
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
...............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ