สวดมนต์กระตุ้นอวัยวะ
อาจารย์ เสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต อธิบายหลักการนี้ว่า
“เวลาเราสวดมนต์นานๆ คำแต่ละคำจะสร้างความสั่นสะเทือนไม่เท่ากันตามฐานที่เกิดของเสียงหรือตาม วิธีเปล่งเสียง แม้ว่าเสียงจะออกมาจากปากเหมือนกัน แต่ว่าเสียงบางเสียงออกมาจากริมฝีปาก บางเสียงออกมาจากปุ่มเหงือก บางเสียงออกมาจากไรฟัน บางเสียงออกมาจากคอ ดังนั้น ถ้าเราสวดมนต์ถูกต้องตามฐานกรณ์จึงเกิดพลังของการสั่น”
และเมื่อเกิดพลังของการสั่น การสั่นนี้จะเข้าไปเยียวยาอาการป่วยได้อย่างไร อาจารย์เสถียรพงษ์อธิบายต่อว่า
“เวลาเราสวดมนต์ เสียงสวดจะไปช่วยกระตุ้นต่อมต่างๆ ซึ่งจะช่วยปราบเชื้อโรคบางชนิด เช่นการวิจัยของฝรั่ง พบว่า อักษร เอ บี ซี ดี จะช่วยกระตุ้นระบบน้ำย่อย ส่วนบทสวดมนต์ในพระพุทธศาสนา เสียงอักขระแต่ละตัวมีคำหนักเบาไม่เท่ากัน บางตัวสั่นสะเทือนมาก บางตัวสั่นสะเทือนน้อย ทำให้ต่อมต่างๆในร่างกายถูกกระตุ้น เมื่อต่อมที่ฝ่อถูกกระตุ้นบ่อยๆเข้า ก็คงคืนสภาพ อาการป่วยก็จะดีขึ้น”
นอกจากนี้ยังมีบทความที่อธิบายเกี่ยวกับการฝึกเปล่งเสียงเพื่อรักษาโรคจาก เสียงต่างๆ เช่น
โอม ...... กระตุ้นหน้าผาก ฮัม ....... กระตุ้นคอ
ยัม ....... กระตุ้นหัวใจ ราม .......กระตุ้นลิ่นปี่
วัม ....... กระตุ้นสะดือ ลัม ....... กระตุ้นก้นกบ เป็นต้น
แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้น การสวดมนต์ให้ประโยชน์ทางใจที่มีคุณค่ากับผู้สวด
รองศาสตราจารย์จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี ภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สรุปว่ามี 2 ข้อคือ
1. การสวดมนต์เป็นเครื่องช่วยให้เกิดสมาธิ โดยต้องสวดเสียงดัง ให้หูได้ยินเสียงตัวเอง และจิตใจต้องจดจ่ออยู่กับเสียงสวด เมื่อใจไม่ฟุ้งไปที่อื่น ใจอยู่กับเสียงเดียว จึงเกิดสมาธิ
2. ถ้าเข้าใจความหมายของบทสวดนั้นๆ จะทำให้เรามีความเลื่อมใสศรัทธา เพราะบทสวดของทุกศาสนาเป็นเรื่องของความดีงาม จิตใจก็จะสะอาดขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น เป็นการยกระดับจิตใจของผู้สวด
เมื่อร่างกายที่รับสารสื่อประสาทที่มีประโยชน์และการกระตุ้นระบบอวัยวะต่างๆ ให้ทำงานเป็นปกติ เท่ากับว่าเราได้ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ย่อมทำให้ภูมิชีวิตดีขึ้นเป็นลำดับ ความป่วยก็จะดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยในต่างประเทศที่อาจารย์สมพร สรุปให้ฟังว่า การสวดมนต์ช่วยบำบัดอาการป่วยและโรคร้ายดังต่อไปนี้
1. หัวใจ 2. ความดันโลหิตสูง 3. เบาหวาน 4. มะเร็ง
5. อัลไซเมอร์ 6. ซึมเศร้า 7. ไมเกรน 8. ออทิสติก
9. ย้ำคิดย้ำทำ 10. โรคอ้วน 11. นอนไม่หลับ 12.พาร์กินสัน
สวดมนต์อย่างไรให้หายจากโรค สวดมนต์บำบัดมีวิธีการและจุดประสงค์ที่หลากหลาย สรุปออกมาได้ 3 แบบ
1. การสวดมนต์ด้วยตัวเอง
เป็นการเหนี่ยวนำตัวเอง จึงเป็นที่มาของคำว่า Prayer Therapy ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพราะหากใครสักคนคิดที่จะสวดมนต์ นั่นหมายความว่าเขากำลังมีความปรารถนาดีต่อตนเอง วิธีการที่อาจารย์สมพรแนะนำคือ
● ควรสวดด้วยตัวเอง และไม่ควรสวดมนต์หลังกินอาหารทันที ควรทิ้งช่วงให้ร่างกายเริ่มผ่อนคลาย อาจเป็นเวลาก่อนเข้านอน
● หาสถานที่ที่สงบเงียบ
● สวดบทสั้น ๆ 3-4 พยางค์ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีขึ้นไป จะทำให้ร่างกายได้หลั่งสารซีโรโทนิน แต่หากสวดมนต์ด้วยบทยาวๆ จะได้ความผ่อนคลายและความศรัทธา
● ขณะสวดมนต์ให้หลับตา สวดให้เกิดเสียงดังเพื่อให้ตัวเองได้ยิน
2. การฟังผู้อื่นสวดมนต์
เป็นการเหนี่ยวนำโดยคลื่นเสียงจากผู้อื่น เช่น การฟังเสียงพระสวดมนต์ เสียงผู้นำสวดในศาสนาต่างๆ หากผู้สวดมีสมาธิ เสียงสวดนั้นจะนุ่ม ทุ้ม ทำให้เกิดคลื่นที่ช่วยเยียวยา (healing) ผู้ฟัง แต่หากผู้สวดไม่มีสมาธิ ไม่มีความเมตตา เสียงสวดที่เกิดขึ้นอาจเป็นคลื่นขึ้นๆลงๆ นอกจากจะไม่ช่วยเยียวยาอาการป่วย อาจทำให้เสียสุขภาพได้
3. การสวดมนต์ให้ผู้อื่น
ปรากฏการณ์มากมายที่เราเห็นในสังคม เมื่อใครสักคนเจ็บป่วย เรามักสวดมนต์อธิษฐานขอให้ความเจ็บป่วยของเขาหายไป บางครั้งอยู่ห่างกันคนละซีกโลก เสียงสวดมนต์เหล่านี้จะมีผลทำให้สุขภาพเขาดีขึ้นจริงหรือไม่ อาจารย์สมพรอธิบายดังนี้
คลื่นสวดมนต์ เป็นคลื่นบวก เพราะเกิดจากจิตใจที่ดีงาม ปรารถนาดีต่อผู้ป่วย และเมื่อเราคิดจะส่งสัญญาณนี้ออกไปสู่ที่ไกลๆ มันจะเดินทางไปในรูปของคลื่นไฟฟ้า ซึ่งมนุษย์มีเซลล์สมองที่สามารถส่งสัญญาณคลื่นไฟฟ้าและสารเคมีได้ถึง สิบยกกำลังสิบ คลื่นนี้จึงเดินทางไปได้ไกลๆ
บางทีพ่อกำลังป่วยหนักอยู่ที่นี่ แต่ลูกอยู่ต่างประเทศ ก็สามารถรับคลื่นนี้ได้และรู้ว่ามีใครกำลังไม่สบาย ที่เราเรียกว่า ลางสังหรณ์หรือสัมผัสที่หก
การรับรู้ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้รับผู้ส่งด้วย ถ้าคนไหนรับสัญญาณคลื่นแห่งบทสวดมนต์ได้จึงได้ผล เหมือนเราเปิดวิทยุ ถ้าคนฟังปิดหูก็จะไม่ได้ยิน ดังนั้นถ้าต่างฝ่ายต่างเปิดรับคลื่นบวกที่เราส่งไปผู้ป่วยก็จะได้รับ และทำให้อาการป่วยดีขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องของความมหัศจรรย์ แต่เป็นหลักธรรมชาติทั่วไป
เลือกสวดมนต์อย่างไรดี
แล้วบทสวดที่เลือกควรใช้บทไหนดี อาจารย์สมพรแนะนำว่า
“น่าแปลกที่บทสวดในศาสนาส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีจังหวะขึ้นๆ ลงๆ เหมือนจังหวะเพลง จะมีโทนเสียงแค่ไม้เอกไม้โทเท่านั้น สักสามสี่พยางค์ มาสวดซ้ำไปมาได้ทั้งนั้น”
พระพุทธศาสนา มีบทสวดมากมายหลายบท ให้เลือกใช้ตามความชอบ ยกตัวอย่างเช่น อิติปิโส หรือนะโมตัสสะ นะโมพุทธายะ หรือสัพเพสัตตา ฯลฯ เลือกท่อนใดท่อนหนึ่งแล้วสวดวนไปวนมา หรือโพชฌงค์ 7 ที่หลายคนนิยมสวดให้ตัวเองหรือคนไข้หายป่วย
“ข้อที่น่าสังเกตคือ บทสวดโพชฌงค์ 7 จะมีความแตกต่างจากบทสวดอื่นๆคือ คลื่นเสียงของบทสวดจะมีแค่เสียงสระ มีแค่สองจังหวะ คลื่นเสียงจากบทสวดจึงทำให้เกิดคลื่นที่เยียวยาได้ดีที่สุด”
อยากให้ตัวเองและผู้อื่นมีสุขภาพกายใจเป็นสุขและยังน้อมนำกุศลจิต เริ่มจากการสวดมนต์เป็นประจำด้วยสมาธิ
Inta : รายงาน
Credit : นิตรสารชีวจิต ฉบับแรกของเดือนมกราคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ