รู้จักกับ สเตียรอยด์
มีคุณอนันต์-มีโทษมหันต์ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดของยาที่จัดอยู่ในประเภท สเตียรอยด์
มีคุณอนันต์-มีโทษมหันต์ น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ดีที่สุดของยาที่จัดอยู่ในประเภท สเตียรอยด์ และจะว่าไปแล้วในสรีรวิทยาและการแพทย์ของมนุษย์ ก็มีสารสเตียรอยด์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอยู่หลายส่วน โดยบทบาทสำคัญของสเตอรอยด์ในระบบชีวิตส่วนใหญ่คือ การเป็นฮอร์โมน
สเตียรอยด์ เป็นชื่อเรียกของกลุ่มฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างจากต่อมหมวกไต ซึ่งสเตียรอยด์ที่ถูกสร้างขึ้นมีหลักๆ อยู่ 2 ชนิด คือ คอร์ติโซล (Cortisol) ซึ่งจะถูกหลั่งออกมาเมื่อร่างกายมีภาวะเครียดเกิดขึ้น เพื่อช่วยควบคุมภาวะเครียดหรือความกดดันเหล่านั้น และ อัลโดสเตอโรน (Aldosterone) ที่ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย หากมีอัลโดสเตอโรนหลั่ง ออกมามากเกินไปก็จะทำให้ร่างกายขับโปแตสเซียมออกมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้มีความดันโลหิตสูงได้
สำหรับสเตียรอยด์ที่ใช้เป็นยานั้น เป็นสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค รวมถึงใช้ทดแทนในกรณีที่ร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนดังกล่าวได้ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงสเตียรอยด์เฉพาะในส่วนที่เป็น ยา เท่านั้น
สเตียรอยด์ อาจเรียกได้ว่าเป็นยามหัศจรรย์ โดยจากคุณสมบัติอันน่าทึ่งของยาประเภทนี้ทำให้มันถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ กันอย่างกว้างขวาง บางชนิดก็เป็นฮอร์โมนเพศ บางชนิดก็ควบคุมระบบ เมตาบอลิกของโปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน บางชนิดก็ควบคุมเกลือแร่ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณสมบัติในการต้านการอักเสบของมัน ซึ่งทำให้นายแพทย์ฟิลลิป เฮนช์ ได้รับรางวัลโนเบล ในฐานะที่เป็นผู้นำยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มาใช้รักษาโรคข้ออักเสบ รูมาตอยด์ อย่างได้ผลดีมาก แต่ก็เพียงระยะแรกๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปพบว่าคนไข้ที่กินคอร์ติโคสเตียรอยด์ในขนาดสูงๆ และเป็นเวลานาน จะมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้น ซึ่งทำให้วงการแพทย์ต้องกลับมาทบทวนการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์กันใหม่อีก ครั้ง และนำมาสู่การควบคุมการใช้ยาชนิดนี้ในที่สุด
ตัวอย่างยากลุ่มสเตียรอยด์ ข้อสังเกตตัวยาที่มีสารสเตียรอยด์ก็คือ ชื่อยาส่วนใหญ่มักลงท้ายด้วย -one หรือ -ol เสมอ เช่น Hydrocortisone Prednisolone Triamcinolone, Fluocinolone Betamethasone Clobetasol, Desoximetasone Prednicarbate, Mometasone, Beclomethasone Budesonide Dexamethason นอกจากนี้ ยาสเตียรอยด์มักถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่เกี่ยวข้อกับโรคข้อ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคลูปัส (SLE) โรคข้อเสื่อม โรคข้อสันหลังอักเสบชนิดติดยึด โรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน โรคไตอักเสบ โรคหืด โรคการอักเสบของระบบประสาท บางชนิด โรคเลือดบางชนิด เป็นต้น
อันตรายจากสเตียรอยด์ เนื่องจากสเตียรอยด์มีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายเกือบทุกระบบ การใช้สเตียรอยด์จึงอาจนำไปสู่อันตรายมากมาย ที่สำคัญได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อราได้ง่าย, มีผลทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารบางลง จึงเกิดแผลในกระเพาะได้ง่าย, ยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังอย่างมากโดยเฉพาะกับเด็ก และกรณีที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ห้ามใช้สเตียรอยด์โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ การใช้สเตียรอยด์ยังมีผลทำให้กระดูกผุ ผิวหนังบาง และอาจทำให้มีอาการบวม ขนดก ผิวเข้มขึ้น เป็นต้น ซึ่งอันตรายจากยาสเตียรอยด์นั้น ส่วนมากมักเกิดจากการใช้ยาผิดขนาด การใช้โดยไม่มีความจำเป็นหรือการใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น รับประทานยาตอนท้องว่าง ใช้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนั้น ต้องพึงระวังในการใช้ยาโดยเฉพาะยาลูกกลอนที่มักมีส่วนผสมของสเตียรอยด์
คำเตือน เนื่องจากยากลุ่มสเตียรอยด์มีความเป็นพิษสูงและเป็นอันตราย จึงต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สั่งจ่ายเท่านั้น เนื่องจากก่อนที่แพทย์จะตัดสินใจใช้ยาสเตียรอยด์ ต้องคิดใคร่ครวญและชั่งน้ำหนักแล้วว่าประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับต้องมี มากกว่าผลร้ายจากอาการข้างเคียง จึงจะอนุญาตให้ใช้ยานี้ได้
ขนาดหมอจะ จ่ายยาสเตียรอยด์ยังคิดแล้วคิดอีก คนไข้เองเสียอีกที่ไม่ได้รู้เรื่องการแพทย์อะไรมากมายเลย แต่หลายท่านก็เก่งขนาดวินิจฉัยโรคตัวเองได้ แถมยังชอบซื้อยามากินเองอีกต่างหาก ดังนั้น หลายต่อหลายท่านเหล่านั้นจึงมักได้พิษภัยของสเตียรอยด์เป็นของแถมมาด้วยโดย ไม่รู้ตัว
ใช้ให้เป็น ก็เป็นคุณอเนกอนันต์ แต่ถ้าใช้แบบสุ่มสี่สุ่มห้า ก็ต้องเสี่ยงกับโทษมหันต์เป็นธรรมดา
ลิขสิทธิ์บทความของ e-magazine.info
ติดตามบทความ สุขภาพ หรืออ่าน แมกกาซีน
ที่มาข้อมูล : www.e-magazine.info
...............................