พาราเซตามอล เป็นยาที่หาซื้อได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ หรือ แม้กระทั่งร้านขายของชำก็ยังมีขาย แต่ใครจะรู้บ้างว่า หากกินติดต่อกันในปริมาณที่มากจนเกินไป จะเป็นอันตรายอย่างไรบ้าง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ภก.วินิต อัศวกิจวิรี ผอ. กองควบคุมยา สำนัก งานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ยาพาราเซตามอลที่ขึ้นทะเบียนในบ้านเรา มีชื่อการค้าประมาณ 900 ชื่อ แบ่งเป็นชนิดเม็ด และแคปซูลประมาณ 600 ชื่อ ส่วนอีก 300 ชื่อเป็นชนิดน้ำ ในส่วนของยาเม็ดนั้น ประมาณ 500 ชื่อการค้า มีขนาด 500 มก. ส่วนขนาด 325 มก. มี 80 ชื่อการค้า
การกินพาราเซตามอล ชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อแก้ปวด ลดไข้ คงไม่มีปัญหาอะไร แต่บางคนใจร้อนอยากหายเร็ว กินครั้งละ 2 เม็ด ๆ ละ 500 มก. เวลาผ่านไปยังไม่ถึง 4 ชม. ก็กินซ้ำลงไปอีก กรณีเช่นนี้ทำให้ได้รับพาราเซตามอลถึง 2 กรัม ซึ่งอาจจะเป็นพิษต่อตับได้โดยเฉพาะในคนที่ไวต่อพาราเซตามอล หากกินเกิน 2 กรัมขึ้นไป อาจจะทำให้ตับอักเสบได้ ในรายที่ตับอักเสบไม่รุนแรง อาจมีแค่อาการอ่อนเพลีย พักฟื้นสักพักก็หายเป็นปกติ แต่ถ้าโชคร้ายอาจถึงขั้นตับวายถึงแก่ชีวิตได้ แต่โอกาสจะเกิดน้อยมากเท่าที่ดูจากรายงานบ้านเราก็ยังไม่มีเรื่องนี้
พาราเซตามอลกับปัญหาต่อตับ จึงขึ้นอยู่กับเชื้อชาติและความไวต่อยา ถ้าไม่ได้กินต่อเนื่องเป็นเวลานานคงไม่เป็นไร คือ คนส่วนใหญ่กิน 2 วันก็เลิกแล้ว ในคนที่มีปัญหาเรื่องตับ ถ้าหมอ หรือ เภสัชกรรู้ จะไม่จ่ายพาราเซตามอลให้ แต่จะจัดยากลุ่มอื่นให้แทน จึงขอเตือนว่า ควรหลีกเลี่ยงการกินพาราเซตามอลพร้อมกับดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะไปเสริมฤทธิ์กันและเป็นอันตรายต่อตับได้
ทำไมพาราเซตามอลขนาด 325 มก. ไม่เป็นที่นิยม ? ภก.วินิต กล่าวว่า บ้านเราเคยชินกับการกินพาราเซตามอลขนาด 500 มก. ซึ่งคนเชื่อว่า แรงกว่า กินเม็ดเดียวเอาอยู่ ทั้ง ๆ ที่ความจริงขนาดแค่ 325 มก.ก็ออกฤทธิ์ได้ผลเหมือนกัน
ด้าน ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขา ธิการ อย. กล่าวว่า ไม่ควรกินพาราเซตามอล เกินกำหนดตามเอกสารยาที่ระบุ สำหรับขนาดเหมาะสมกับผู้ใหญ่ กิน 1 เม็ด 500 มก. ทุก 4 ชั่วโมง หรือ กิน 2 เม็ด 1,000 มก. ทุก 6 ชั่วโมง และไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ด หรือ 4 กรัม ควรเว้นระยะห่างของการกินยาแต่ละครั้ง เพื่อให้ร่างกายเกิดการขับยา มิให้เกิดการสะสม เป็นอันตรายต่อตับ หากใช้พาราเซตามอล เกิน 5 วัน แล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และหยุดการใช้ยาทันที สำหรับการใช้ยาในเด็ก ควรลดขนาดยาลง โดยใช้ยาครั้งละไม่เกิน 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากไม่แน่ใจการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อความปลอดภัย
สิ่งสำคัญที่อยากฝาก คือ ขอให้ผู้บริโภคอ่านฉลากยาอย่างละเอียดทุกครั้งถึงวิธีการใช้ คำเตือน ที่จะเป็นประโยชน์ ป้องกันอันตรายจากผลข้างเคียงจากการใช้ยา โดยเฉพาะการใช้พาราเซตามอล ไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการทำงานของตับที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ผู้ที่ดื่มสุรามากจนตับเริ่มเสื่อม หรือมีการทำงานของตับที่เสื่อมลงจากการได้รับสารอะฟลาท็อกซินในอาหาร เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือใช้ยาอื่นที่มีพิษต่อตับร่วมกับพาราเซตามอล โอกาสเกิดพิษย่อมมีมากขึ้น เพราะอันตรายที่สำคัญที่สุดของพาราเซตามอล คือ การเกิดพิษต่อตับ และขอให้ระมัดระวังในการใช้ยาแก้ปวด แก้ไข้ และยารักษาโรคต่าง ๆ เพราะยามีทั้งคุณและโทษ หากร่างกายมีโรคประจำตัว ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ
ที่มาข้อมูล : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ให้กำลังใจครูบ้านนอกด้วยนะจ๊ะ ... ขอบคุณจ้า
...............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ