บทความจากนิตยสารผู้จัดการ (กันยายน2545)
ครั้งที่แล้ว ผมเล่าเรื่องการนอนกับความจำให้คุณผู้อ่านได้ทราบกันว่า การนอนนอกจากจะจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์แล้ว การนอนยังมีผลต่อการเรียนรู้และการเกิดขึ้นของความจำ นั่นคือ การนอนตามปกติ จะมีการนอนแบบ rem และ nonrem sleep ซึ่งการนอนแบบ rem sleep มีความสำคัญต่อความจำ เพื่อว่าสิ่งที่ถูกเรียนรู้ในช่วงกลางวันจะถูกบันทึกและเรียบเรียง กลายเป็นความจำอย่างมีระเบียบแบบแผนในเวลาที่เรานอน
แต่นั่นเป็นเรื่องของการนอนตามปกติ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราไม่ค่อยได้พูดถึงเกี่ยวกับการนอนคือ การนอนในเวลากลางวันจำเป็นหรือไม่ และมีผลดีอย่างไร ต่อมนุษย์เรา
โดยทั่วไปทุกคนคงตอบได้ดีว่า ไม่มีบริษัทหรือห้างร้านใดที่มีกฎระเบียบให้ พนักงานพักผ่อนโดยการนอนในช่วงระหว่างเวลาทำงาน การนอนกลางวันในที่ทำงานดูจะกลายเป็น เรื่องต้องห้ามและไม่เหมาะสมทั้งๆ ที่ หากถามพนักงานทั้งหลายในที่ทำงานว่า เคยมีใครงีบตอนกลางวันหรือไม่ ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเคยตอบว่าเคย ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน หรือนักศึกษาในห้องเรียน อาจารย์หรือผู้บริหารในห้องส่วนตัว หรือพนักงานทั่วไปที่ฟุบหลับที่โต๊ะทำงาน แต่หากให้นอนเป็นประจำ หรือนอนเป็นเรื่อง เป็นราวคงเป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมรับนัก แต่ทุกคนมักจะยอมรับว่าหากได้งีบสักพักหนึ่ง การทำงานจะดีขึ้นมาก
มีการทดลองชิ้นหนึ่งตีพิมพ์ในวารสาร nature neuroscience เมื่อไม่นานนี้ เป็นการทดลองของกลุ่มนักวิจัยจากฮาร์วาร์ดเพื่อหาคำตอบว่า การนอน กลางวันจะมีผลกระทบอย่างไรกับความสามารถในการเรียนรู้และทำงานของคนเรา
นักวิจัยกลุ่มนี้เริ่มการทดลองในอาสาสมัคร 30 คน โดยใน 30 คนนี้จะต้องมาทำการทดสอบหน้าจอคอมพิวเตอร์วันละ 4 ครั้งคือเวลา 9 โมงเช้า เที่ยง 4 โมงเย็น และหนึ่งทุ่ม โดยกลุ่มแรกให้ทำ การทดสอบทั้ง 4 ช่วงเวลาโดยไม่มีการงีบกลางวัน กลุ่มที่สองให้งีบได้ช่วงบ่ายสองโมงเป็นเวลา 30 นาที และกลุ่มที่สามงีบได้หนึ่งชั่วโมง
ผลการศึกษาที่ได้นั้นพอจะตอบคำถามที่ตั้งไว้ในตอนแรก นั่นคือ ในกลุ่มแรกนั้นพบว่าความสามารถในการทดสอบจะลดลงไปเรื่อยๆ โดยในช่วงเช้าจะทำคะแนนได้สูงสุด ส่วนช่วงหนึ่งทุ่มจะได้ ต่ำสุด และที่สำคัญคือความสามารถในการทดสอบ ลดลงไปถึง 50% เมื่อเทียบกับช่วงเช้า
ในกลุ่มที่สองนั้นพบว่าความสามารถในการทำการทดสอบไม่ได้ลดลง คะแนนในช่วงเช้าและบ่ายไม่แตกต่างกัน (ในทางสถิติ) ส่วนกลุ่มที่สามที่มีโอกาสงีบนานหนึ่งชั่วโมงนั้นพบว่า คะแนนในการทดสอบดีกว่า
เพื่อทดสอบว่าคะแนนที่ออกมาดีนั้นอาจจะไม่ใช่จากการได้นอนพัก แต่อาจเป็นเพียงเพราะการได้พัก นักวิจัยจึงให้อาสาสมัครอีกกลุ่มหนึ่งได้พักช่วงสั้นๆ แล้วมาทดสอบดู ผลคือคะแนนยังคงลดลงในช่วงบ่ายและค่ำ
นั่นหมายความว่าแค่การพักเพียงอย่างเดียวยังไม่พอที่จะเพิ่มประสิทธิภาพเท่ากับการนอน
หรือเป็นไปได้ไหมว่าที่คะแนนการทดสอบลดลงเป็นเพราะอาสาสมัครขาดแรงจูงใจที่จะทำ การทดสอบในช่วงบ่าย เพื่อตอบคำถามนี้ นักวิจัยจึง บอกกับอาสาสมัครกลุ่มที่ไม่ได้นอนพัก ซึ่งคะแนนในการทดสอบลงว่า เขาทำได้ไม่ดีเท่าครั้งแรก แต่หากในครั้งต่อไปถ้าเขาทำได้ดีเท่ากับช่วงเช้าเขาจะได้รับเงินรางวัล ทีมนักวิจัยกล่าวว่าหลังจากที่อาสาสมัครได้รับข้อเสนอนี้แต่ละคนตาโตด้วยความสนใจ
แต่ผลที่ออกมาคือ แม้จะมีการเสนอเงินรางวัลให้ แต่ในกลุ่มที่ไม่ได้นอนกลางวันก็ยังคงทำคะแนนการทดสอบออกมาต่ำกว่าการทดสอบในช่วงเช้า
ทั้งหมดนี้อาจจะพอให้คำตอบกับเราว่า การนอนพักช่วงกลางวันนั้น เป็นประโยชน์ต่อประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าที่เราคิดหรือเคยเข้าใจกันผิดๆ
อาจจะมีคำถามตามมาอีกว่า ทำไมเราจึงควรจะนอนกลางวัน หรือทำไมการนอนกลางวันจึงทำให้ประสิทธิภาพในด้านต่างๆ ดีขึ้น ทั้งที่การนอน เพียงแค่หนึ่งชั่วโมงนั้น rem sleep ยังไม่ทันจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำ
คำตอบในเรื่องนี้คงเป็นแค่สมมติฐานว่า มนุษย์เองก็เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ คือถิ่นกำเนิดพื้นฐานของคนเราอยู่ในบริเวณอากาศร้อน ซึ่งการปรับตัวแต่ดั้งเดิมนั้นสำหรับสัตว์เลือดอุ่น (ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตร้อน) คือการเลี่ยงที่จะหากินในช่วงกลางวันที่อากาศร้อน โดย การนอนพักอยู่ในที่ร่ม นั่นคือสัตว์เลือดอุ่นมักจะออกหากินในช่วงเช้าหรือเย็น
หากสมมติฐานนี้เป็นจริงและอธิบายผลที่ออกมา ถึงความสามารถในการทำงานที่เพิ่มขึ้นหลังจากได้นอนพัก หรืองีบในช่วงกลางวัน สิ่งนี้ก็อาจจะพอเป็นเหตุผลที่บรรดาพนักงานทั้งหลายเรียกร้องให้หัวหน้า หรือนายจ้างเข้าใจว่า การนอนพักในช่วงกลางวันไม่ใช่เรื่องเสียหาย และควรสนับสนุน อย่างน้อยก็อาจจะขอเก้าอี้หรือโซฟาสำหรับเอนพักผ่อนในช่วงกลางวัน
นำมาจาก http://www.gotomanager.com/news/details.aspx?id=3715
ให้กำลังครูบ้านนอกด้วยนะจ๊ะ ... ขอบคุณจ้า
...............................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็นครับ